มลพิษทางอากาศที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), โอโซน (O3), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) รวมทั้งฝุ่นละอองที่อยู่ในชั้นบรรยากาศซึ่งมีได้ตั้งแต่ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งฝุ่นละอองขนาดหยาบหรือที่เราเรียกว่า PM10 คือมีขนาดตั้งแต่ 2.5-10 ไมครอน มีแหล่งกำเนิดจากการจราจรบนถนน ฝุ่นผง ซึ่งมีผลทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนบน เช่นแสบคอ คันคอ จาม น้ำมูก คัดจมูก คันตา แสบตา หรือคันผิวหนังได้ สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือที่เราเรียกว่า PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ได้จากการเผาไหม้ การผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งขนจมูกไม่สามารถกรองได้
ทำให้เข้าไปสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึมเข้ากระแสเลือดผ่านทางถุงลม ทำให้มีผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต มีปัญหาต่อโรคหัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ทำให้หอบกำเริบ ถุงลมโป่งพอง หลอดอักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้หากเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ ซึ่ง PM2.5 ถือว่าเป็นมลพิษที่มีผลประทบต่อสุขภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมประมาณ 20 – 30 เท่า ทำให้สามารถแพร่ไปยังอวัยวะต่างๆ และกระแสเลือดได้โดยตรง
ทั้งนี้ผลกระทบต่อโรคหืดและภูมิแพ้ทางเดินหายใจขึ้นอยู่กับระดับ PM2.5 และระยะเวลาที่ได้รับ หากระดับ PM2.5 สูงมาก อาจทำให้เกิดอาการได้เร็วเช่น ไอ หอบ เหนื่อย แน่นหน้าอก คันตา คันผิวหนัง ในขณะที่หากได้รับระดับไม่สูงมาก เป็นเวลานานอาจมีผลทำให้เกิด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง สมรรถภาพปอดลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหืด และเป็นมะเร็งปอดได้
6 วิธีช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ช่วยโลก ช่วยเรา
1. งดเผาขยะ
การเผาขยะจะทำให้เกิดการเผาไหม้ซึ่งจะเป็นการเพิ่มควัน และฝุ่นพิษให้อากาศ ทั้งนี้เพื่อลดปริมาณควัน และลดอัตราการเกิดอัคคีภัยในช่วงหน้าหนาวที่อากาศแห้งได้ด้วย ซึ่งแนวทางการแก้ไขในเรื่องของการเผาขยะ โดยการหมุนเวียนทรัพยากร (Zero Waste) เพื่อช่วยลดปริมาณขยะและนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดขยะ นำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ ใช้วัสดุทดแทน ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาขยะลงได้
2. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ
การป้องกันฝุ่นด้วยการปิดหน้าต่างๆ และประตูบ้านตลอดเวลา อาจลดปริมาณฝุ่นทั่วไปได้ แต่ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีอนุภาคเพียง 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กมากจนเครื่องปรับอากาศไม่สามารถดักจับได้ ตัวช่วยในการดักจับฝุ่นด้วยเครื่องฟอกอากาศจึงเป็นทางเลือกที่คนหันมาใช้กันมากขึ้น เครื่องฟอกอากาศที่ขายในท้องตลาดมีหลายแบรนด์ให้เลือก แต่การเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสม ควรคำนึงถึงขนาดของพื้นที่ห้องกับขนาดของตัวเครื่องให้เหมาะสมกัน จึงจะมีประสิทธิภาพที่ดี
3. ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ
ปัจจุบันการปลูกต้นไม้ฟอกอากาศเป็นเทรนด์ที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากให้ความสวยงามสบายตาแล้ว ยังทำให้อากาศภายในบ้านสดชื่นด้วย ต้นไม้ที่มีคุณสมบัติในการฟอกอากาศและเป็นที่นิยมสำหรับการนำมาปลูก และวางตามจุดต่างๆ ของบ้าน มีหลากหลายพรรณไม้ ยกตัวอย่างเช่น ต้นยางอินเดีย พลูด่าง เศรษฐีเรือนใน เศรษฐีพันล้าน ลิ้นมังกร เขียวหมื่นปี เดหลี ไทรใบสัก กวักมรกต และยังมีอีกมากมาย ทั้งนี้ต้นไม้แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและการดูแลที่แตกต่างกันไป ควรศึกษารายละเอียดก่อนนำมาปลูกด้วย
4. ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
สาเหตุของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ร้อยละ 50-60% มาจากการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน สังเกตได้ว่าบริเวณที่มีการจราจรติดขัดมักมีอากาศที่ขมุกขมัว เนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น การเสียดสีของยางกับพื้นถนนทำให้เกิดฝุ่นละออง อีกทั้งรถยนต์ยังปล่อยควันจากท่อไอเสีย หากผู้คนส่วนใหญ่ลดอัตราการใช้รถบนท้องถนน หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ก็จะช่วยทำให้ปริมาณฝุ่นละอองที่เกิดจากปัญหาเหล่านี้ลดลงตามไปด้วยเช่นกัน
5. หมั่นเช็คสภาพรถ เพื่อลดควันดำ
การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ไม่สมบูรณ์ของทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ จะทำให้เกิดควันดำ และมลพิษทางอากาศ จึงควรหมั่นตรวจเช็คเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพปกติ การใช้งานไม่ควรมีควันดำ หรือปล่อยควันดำขณะขับขี่ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อีกช่องทาง
6. หมั่นทำความสะอาดบ้าน
การทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดเช็ดถูเฟอร์นิเจอร์ด้วยผ้าชุบน้ำเพื่อป้องกันการกระจายของฝุ่น รวมทั้งการล้างอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องปรับอากาศ พัดลม แผ่นกรองอากาศ มุ้งลวด และเช็ดทุกซอกมุมของบ้าน เพื่อช่วยลดแหล่งสะสมของฝุ่นได้อย่างง่ายๆ